ปีกมดลูกอักเสบ (salpingitis) หมายถึง การอักเสบของท่อรังไข่ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ระหว่างอายุ15-45 ปี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผ่านช่องคลอดเข้าไปทางปากมดลูกขึ้นไปในโพรงมดลูก และลุกลามต่อไปจนถึงท่อรังไข่ บางครั้งอาจพบการติดเชื้อร่วมกันในหลายตำแหน่ง และเรียกรวมๆ กันว่า "อุ้งเชิงกรานอักเสบ" (pelvic inflammatory disease หรือ PID)
ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเป็นการติดเชื้อบริเวณมดลูก รังไข่ และท่อรังไข่ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อผ่านขึ้นมาทางช่องคลอดและปากมดลูก หรือบางรายเกิดจากการติดเชื้อมาตามกระแสเลือด อาจจะมีแหล่งเชื้อโรคมาจากอวัยวะอื่นๆ เช่น ฟันผุ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ปีกมดลูกอักเสบส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนึ่ง เชื้อโรคที่พบบ่อยคือ เชื้อหนองใน รองลงมาคือเชื้อคลามัยเดีย ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการตกขาวและปวดท้องน้อย ถ้าอาการไม่มากแพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน แต่ถ้าเป็นมาก มีการติดเชื้อรุนแรง หรือมีอาการปวดรุนแรง จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้รับยาปฏิชีวนะชนิดยาฉีด
สาเหตุ
โรคนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงที่สำส่อนทางเพศ หรือมีสามีที่สำส่อนทางเพศ
อาจพบภายหลังการคลอดบุตร แท้งบุตร ขูดมดลูก ใส่ห่วงคุมกำเนิด
ส่วนหนึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ชอบสวนล้างช่องคลอด
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากเชื้อหนองใน Neisseria gonorrhea และเชื้อคลามัยเดีย Chlamydia trachomatis
ในรายที่เกิดการติดเชื้อหลังคลอด สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่เป็นปกติวิสัยในช่องคลอด เช่น เชื้อสเตรปโตค็อกคัส, สแตฟฟีโลค็อกคัส หรือเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อจากภายนอกช่องคลอด เข้าไปในช่องคลอดและมดลูก มักเกิดขึ้นและปรากฎอาการภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
เกิดจากการทำแท้งที่ไม่สะอาด และมีเชื้อโรคแพร่กระจายเข้าในมดลูกและปีกมดลูก
การติดเชื้อโดยทั่วไปจะเกิดขึ้น 2 ระยะ
ระยะแรกเป็นการติดเชื้อที่ช่องคลอดและปากมดลูก
ระยะที่สอง พบว่ามีการลุกลามเข้าไปในโพรงมดลูกและปีกมดลูก กลไกการเกิดโรดส่วนหนึ่งเป็นการจากไหลย้อนของระดู และการที่ปากมดลูกเปิดขณะที่มีประจำเดือน
อาการของโรค
ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้องน้อย ตกขาวออกเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น อาจมีอาการปวดหลัง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีประจำเดือนออกมาก และมีกลิ่นเหม็นในรายที่เกิดจากการติดเชื้อหนองใน อาจมีอาการขัดเบา ปัสสาวะปวดแสบขัดร่วมด้วย
ถ้าเป็นการติดเชื้อหลังคลอด มักเกิดหลังคลอด 24 ชั่วโมง น้ำคาวปลาอาจออกน้อย หรืออาจออกมากและมีกลิ่นเหม็น
ถ้าเกิดจากการทำแท้ง จะมีอาการแบบแท้งบุตรร่วมด้วย คือ ปวดบิดท้องเป็นพักๆ และมีเลือดออกจากช่องคลอดร่วมด้วย
อาการปวดท้องน้อยเป็นอาการที่พบบ่อยในสตรี ต้องแยกโรคที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ เช่น อวัยวะระบบทางเดินอาหาร อาจเป็นลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ อวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะ เช่นการเป็นโรคของกระเพาะปัสสาวะ หรือมีการอักเสบของท่อไต ปวดกล้ามเนื้อหน้าท้อง เส้นเอ็น ผิวหนัง
การตรวจร่างกาย และการตรวจภายใน พบว่ามีไข้สูง กดเจ็บมากตรงบริเวณท้องน้อยทั้ง 2 ข้าง มักจะได้กลิ่นของตกขาว เลือดประจำเดือน หรือน้ำคาวปลา ตรวบพบอาการซีด หรือภาวะช็อก
การวินิจฉัย
จากประวัติอาการเจ็บป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกาย และการตรวจภายในอย่างละเอียด การตรวจอัลตร้าซาวน์ ช่วยในการวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ โพรงหนองในท่อนำไข่ และช่วยวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ovarian torsion เป็นต้น
รายงานการศึกษาวิจัยพบว่าร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่ตรวจพบจากอัลตร้าซาวน์ ไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจทางหน้าท้องและการตรวจภายใน และร้อยละ 80 พบว่าการตรวจอัลต้าซาวน์ทางช่องคลอดได้ผลที่แม่นยำกว่า
อาการปวดท้องน้อยอาจร้าวมาจากอวัยวะอื่นๆ บริเวณใกล้เคียง แต่อาการปวดท้องน้อยอันเกิดจากอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกราน เกิดขึ้นบ่อยและมีหลายสาเหตุ เช่น พังผืดในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอก หรือเป็นการปวดประจำเดือนหรือภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ที่พบบ่อยคือการแท้งบุตรหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น
อาการปวดท้องน้อยอาจต้องแยกจากภาวะฉุกเฉินอื่นๆ เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ ตั้งครรภ์นอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่แตกหรือบิดขั้ว ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัด ภาวะอื่นๆ เหล่านี้บางทีอาการคล้ายคลึงกันมากแพทย์เองก็อาจจะตรวจแยกโรคได้ยากในเบื้องต้น การตรวจพิเศษและการเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่องสามารถวินิจฉัยได้ในเวลาต่อมา
การรักษา
ในรายที่รุนแรง ควรพักรักษาในโรงพยาบาล แพทย์พิจารณาให้การรักษาภาวะติดเชื้อ ดูแลเรื่องสารน้ำและเกลือดแร่ในร่างกาย อาจให้เลือดถ้าถ้าข้อบ่งชี้ และพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อที่ก่อโรค
ยาปฏิชีวะที่ใช้ได้ผลดี ได้แก่ cephalosporin group, clindamycin, aminoglycosides, fluoroquinolones
ปัจจุบันนี้ยาปฏิชีวนะมีประสิทธิภาพดีสามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างกว้างขวาง บางครั้งอาจมีการดื้อยาหรือยาที่ให้ไม่ได้ผล อาจจะเปลี่ยนยากลุ่มใหม่ให้ตรงกับชนิดของเชื้อ โดยได้ผลจากการเพาะเชื้อและทราบชนิดของเชื้อที่เป็นต้นเหตุก่อโรคตัวจริง แต่บางรายเป็นโพรงหนองหรือถุงหนองรังไข่ที่รักษาด้วยยาไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัดเพื่อกำจัดโพรงหนองหรือถุงหนองรังไข่ออกจากร่างกาย
โรคปีกมดลูกอักเสบมักจะรักษาหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานชนิดเรื้อรังหรือเพราะไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม หรืออาจจะเป็นเชื้อที่ก่อโรคในลักษณะเรื้อรังได้ อาจจำเป็นต้องรักษานาน
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ คือ พังผืดในอุ้งเชิงกราน ซึ่งพบได้บ่อยหลังการติดเชื้อ และมักพบด้วยกันเสมอกับการติดเชื้อชนิดเรื้อรัง ซึ่งการเป็นพังผืดแม้ว่าภาวะติดเชื้อจะหายไปแล้วแต่ก็อาจจะมีอาการปวดท้องน้อยเนื่องจากพังผืดได้เป็นระยะๆ เวลาที่มีการรั้งบริเวณมดลูกหรือปีกมดลูก เช่น การเคลื่อนไหวทำงาน การมีเพศสัมพันธ์ หรือแม้แต่ปวดมากขณะมีประจำเดือน ผู้ป่วยบางรายอาจทรมานถึงกับต้องผ่าตัดเพื่อเลาะพังผืดออก แต่อย่างไรก็สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้อีกเพราะพังผืดเกิดจากการผ่าตัดภายในช่องท้อง หรือภายในอุ้งเชิงกรานได้ด้วย การผ่าตัดรักษาจึงขึ้นอยู่กับความจำเป็นในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยที่เป็นมากหรือเรื้อรังจำเป็นต้องหาภาวะที่มีความอ่อนแอของร่างกาย หรือภูมิต้านทานต่ำร่วมด้วย เช่น มีโรคประจำตัวบางชนิด เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคเอดส์ วัณโรค เป็นต้น
เนื่องจากโรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นควรมีการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วยเสมอ เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น การตรวจหาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากคู่สมรสก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาไปในขณะเดียวกันด้วย
การทำแท้งเถื่อนอาจทำให้มีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ สาเหตุจากเครื่องมือการทำแท้งไม่สะอาด และเชื้อที่ก่อโรคจากการทำแท้งด้วยเครื่องมือที่ไม่เหมาะสมอาจพบว่าเป็นเชื้อที่ร้ายแรง ผู้ป่วยเองมักจะมาพบแพทย์ช้า รักษาไม่ทันกาลถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ